ปูชนียวัตถุสถาน
พระมหาเจดีย์ภักดีประกาศ
รายละเอียด
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี ซึ่งได้รับการออกแบบจาก ม.ร.ว.มิตรารุณ เกษมศรี สถาปนิกประจำราชสำนัก และศิลปินแห่งชาติ ด้วยความพิถีพิถันและทุ่มเทออกแบบอย่างสุดฝีมือ จนถูกยกเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง โดยพระมหาธาตุเจดีย์เป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๙ มีความงดงามและโดดเด่นสะดุดตาตั้งแต่ครั้งแรกที่พบเห็น คล้ายกับวิมานที่ลอยฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ อยู่บนยอดเขาธงชัย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ" ตั้งอยู่บนเขาธงชัย เป็นส่วนหนึ่งของวัดทางสาย ตำบลเขาธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อยู่ห่างจากตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ประมาณ ๖๐ กิโลเมตร พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ รูปลักษณ์เป็นอาคารชุดหลังเดียวขนาดใหญ่ในเนื้อที่กว่า ๓ ไร่ มีความสูง ๕๐ เมตร กว้าง ๕๐ เมตร และยาว ๕๐ เมตร เป็นความหมายถึงระยะเวลา ๕๐ ปี ที่ครองราชย์มานั่นเอง ประกอบด้วยหมู่เจดีย์ ๙ องค์ มีเจดีย์ประธานองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในบุษบก โดยมีเจดีย์รายล้อมอยู่ ๔ ทิศ ๘ องค์ เจดีย์ทั้ง ๘ องค์ออกแบบเป็นเจดีย์ทรงลังกา ปิดด้วยโมเสกทองคำ สำหรับตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมไทยแบบรัตนโกสินทร์ ที่มีความวิจิตรงดงามครบถ้วน ทั้งประตูและเสา ตลอดจนเครื่องตกแต่งภายในทั้งหมด แนวคิดการก่อสร้างเป็นแบบร่วมเอาโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญมารวมอยู่ในตึกเดียวกันในแนวตั้ง อีกทั้งภายในอาคารยังมีพระพุทธรูปปางต่างๆงดงาม ๓๗ องค์ ที่เลือกสรรแล้วจากทั่วประเทศสร้างใหม่มารวมไว้ ตัวอาคารประกอบด้วยชั้นต่างๆ ๕ ชั้น
ชั้นที่ ๑ เป็นชั้นใต้ดินใช้เป็นที่เก็บกักน้ำฝนไว้ใช้งาน โดยพระมหาธาตุฯถูกออกแบบให้มีร่องระบายน้ำฝนจากด้านบนลงสู่ชั้นที่ 1 ได้หลายช่องทาง
ชั้นที่ ๒ เป็นห้องโถงอเนกประสงค์ เป็นสถานที่ไว้ให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวใช้สำหรับประกอบกิจกรรมทางธรรมในวันสำคัญต่างๆ ทางศาสนา และเป็นสำนักงานของมูลนิธิเพื่อพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ
ชั้นที่ ๓ เป็นวิหารที่มีความกว้างขวาง โอ่โถง ไว้สำหรับประกอบพิธีกรรมสำคัญอย่างการรับผ้ากฐิน ผ้าป่า และฟังธรรมเทศนา มีสิ่งที่สำคัญคือ
๑. พระพุทธ ๔ อิริยาบถ ได้แก่ อิริยาบถ ยืน (ทิศเหนือ) เดิน (ทิศตะวันออก) นั่ง (ทิศใต้) นอน (ทิศตะวันตก)
๒. ภาพเขียน พระราชพิธี ๑๒ เดือน
๓. ระเบียงชมทิวทัศน์ รอบบริเวณ ทั้ง ๔ ทิศ รอบระเบียง เป็นภาพถ่าย กิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพระมหาธาตุดีย์
ชั้นที่ ๔ เป็นชั้นของอุโบสถ เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา พิธีอุปสมบท พิธีกรานกฐิน พิธีฟังพระปาฏิโมกข์ เป็นต้น มีสิ่งที่สำคัญคือ
๑. พระประธาน พุทธลักษณะปางลีลาโดยจำลองแบบมาจากพระพุทธรูปปางลีลาสมัยกรุงสุโขทัยซึ่งมีอายุกว่า ปี ที่มีความงดงาม อ่อนช้อยถึงพร้อมด้วยคุณค่า แห่งพุทธศิลปะโดยได้รับการยอมรับในระดับสากลว่า เป็นพระพุทธรูปปางลีลาที่งามที่สุดในโลก มีนามว่า “พระพุทธกาญจนวบพิตร” ฐานพระประธานประดิษฐานพระปรมภิไธย่อ ภปร
๒. ภาพเขียนฝาผนัง ด้านหลังพระประธาน เป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาววดึงส์อยู่ภายในกรอบ 12 นักษัตร
๓. ภาพเขียนฝาผนังด้านหน้าพระประธานตอนบน เขียนพระพุทธเจ้าเสด็จประทับบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะโปรดพระพุทธมารดา มีต้นปาริชาติ และพระจุฬามณี
๔. ภาพเขียนพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกบนกระจกสีโปร่งแสงสเตนกลาส ส่วนบนเป็นพระปรมาภิไธยย่อ "ภปร"
และ ตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๙ จำนวน ๒๐ ภาพ บริเวณช่องหน้าต่าง
ชั้นที่ ๕ ซึ่งเป็นชั้นที่สูงที่สุด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ภายในบุษบก และประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำปางประจำพระชนมวาร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙
ใช้เวลาในการก่อสร้างนาน ๙ ปี ๘ เดือน ๑๒ วัน (ระหว่าง ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ – ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘) ใช้งบประมาณการก่อสร้างที่ได้รับจากแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ที่ร่วมกันบริจาค ๒๓๑ ล้านบาท
ในส่วนของชั้นที่ ๕ จะเปิดให้พุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยว ได้สักการะเฉพาะเทศกาลวัน วิสาขบูชา จำนวน ๓ วัน คือ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ และแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี แต่ในส่วนของชั้นที่ ๑ – ๔ เปิดให้เข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๘.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. และในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาจะมีการเปิดแสงไฟ และประกอบพิธีเวียนเทียนรอบพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ ในช่วงเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น.
โดย : วัดทางสาย
ที่อยู่ : ต.ธงชัย อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
จำนวนเข้าดู : 166
ปรับปรุงล่าสุด : 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 15:55:29
ข้อมูลเมื่อ : 25 เมษายน พ.ศ. 2566 15:24:03